วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2551

แนวคำตอบข้อสอบหลักกฏหมายแพ่ง รศ.ดร.กัลยา ตัณศิริ

แนวคำตอบข้อสอบหลักกฏหมายแพ่ง รศ.ดร.กัลยา ตัณศิริ

คำถาม จงอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดในการเข้าแทรกแซงของรัฐในการถือครองที่ดิน เกี่ยวกับ หลักเกณฑ์ที่สำคัญตามมาตรการสากลของกรรมสิทธิ์ (Ownership) และตามหลักกฎหมายแพ่ง ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ในส่วนกฎหมายแพ่งให้วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายแพ่งของไทย มาตรา 1336

แนวคำตอบ
โดยปกติแล้ว กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิในทรัพย์สินที่ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเอกชน เอกชนสามารถกระทำการใดๆ ได้ทุกอย่างที่กฎหมายให้อำนาจ รัฐจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 41 กลับให้รัฐเข้าไปแทรกแซงจำกัดสิทธิได้ตามที่กฎหมายบัญญัติและมาตรา 42 ก็กำหนดให้รัฐเข้าไปแทรกแซงโดยการเวนคืนได้ แต่ก็จะต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ ( Public interest ) ที่จำเป็น โดยกำหนดเป็นข้อยกเว้นของกฎหมายเอกชนโดยทั่วไป

ประโยชน์สาธารณะเป็นวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการของรัฐ เป็นไปเพื่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ ประโยชน์สาธารณะนั้นก็คือประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเป็นความต้องการของคนหนึ่งคน หรือส่วนน้อยก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือหากเป็นความต้องการของรัฐ ก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์สาธารณะเช่นกัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” สิทธิและเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองเป็นหลักโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นที่รวมไว้ของสิทธิต่างๆ ในทรัพย์สิน ต้องได้รับความคุ้มครองเสมอตามหลักสากลทั่วไป
1. แนวคิดทฤษฎีมาตรการสากลของกรรมสิทธิ์

สิทธิในทรัพย์สินนี้เป็นแนวคิดทฤษฎีว่าเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ เช่น เราไปจับปลามาได้เราก็คิดว่าเรามีสิทธิที่จะกิน หมายความว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์
ปฏิญญาแห่งสิทธิมนุษยชน

มาตรา 2 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นสิทธิของมนุษย์”

มาตรา 17 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะละเมิดมิได้ การละเมิดกรรมสิทธิ์จะกระทำมิได้ เว้นแต่ เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ ตามที่กำหนดในกฎหมายและได้ชดใช้ทำขวัญตามสมควรเสียก่อนแล้ว”
หลักตามปฏิญญาแห่งสิทธิมนุษยชน สิทธิอาจถูกจำกัดได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามที่กฎหมายกำหนดและต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียกรรมสิทธิ์ตามสมควร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

มาตรา 29 บัญญัติว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้”
มาตรา41 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมรดกย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

จะเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่รวมของสิทธิต่าง ๆ ถึงแม้จะได้รับการรับรอง คุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ก็อาจถูกจำกัดได้ ด้วยอำนาจของกฎหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแล้วไม่ใช่ว่าจะทำยังไงก็ได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักปฎิญญาแห่งสิทธิมนุษยชน

2. ลักษณะสำคัญของกรรมสิทธิ์
กรรมสิทธิ์ มีลักษณะสำคัญอยู่ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
เป็นสิทธิเด็ดขาด (Absulute) เป็นอำนาจเด็ดขาด แต่ภายในบังคับขอบเขตของกฎหมาย
ลักษณะถาวร (Prepetual) ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้สิ้นสุดไปโดยกาลเวลาหรือโดยเจ้าของ
ไม่ได้ใช้ ส่วนทรัพย์สิทธิชนิดที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธินั้นถ้าก่อให้เกิดขึ้นโดยกำหนดเวลาไว้ อย่างมากจะมีอยู่ได้เพียง 30 ปีหรือมิฉะนั้นก็มีอยู่ได้เพียงชั่วชีวิตของผู้ทรงสิทธินั้นเช่น สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน
ลักษณะที่ถืออำนาจหวงกัน(Exclusive) คือสิทธิที่จะขัดขวางต่อการเกี่ยวข้องอันมิชอบของ
ผู้อื่น เว้นแต่จะตกอยู่ในบังคับขีดขั้นข้อจำกัดตามกฎหมาย

3. แนวคิดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในปัจจุบัน
Leon Duguit นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ไม่เห็นด้วยที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่เห็นว่ากรรมสิทธิ์จะต้องมีอยู่เนื่องจากหน้าที่ตามสังคมชนิดหนึ่ง(Social Function) คือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะใช้สอยเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้นไม่ได้ จะต้องปฏิบัติตามภาระที่มีอยู่ในสังคมด้วย ดังนั้นเจ้าของจะต้องใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น หากไม่มีการใช้ประโยชน์และเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว รัฐก็อาจจะเข้าไปแทรกแซงได้ ในขณะเดียวกันผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน มีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม
ดังนั้น สิทธิของผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงเป็นสิทธิที่ถูกจำกัดได้

4. วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายแพ่งของไทย มาตรา 1336
หลักกฎหมายแพ่งมาตรา 1336 บัญญัติไว้สอดคล้องกับหลักสากลว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สิน มีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
ลักษณะสำคัญของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯไทยมาตรา 1336 จึงมีดังนี้
ภายในบังคับบทบัญญัติของกฎหมาย
เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิ
สิทธิที่จะใช้
สิทธิที่จะจำหน่าย)
สิทธิที่จะได้ซึ่งดอกผล
สิทธิที่จะติดตามเอาคืน
สิทธิที่จะขัดขวางต่อการเกี่ยวข้องอันมิชอบ
การจำกัดสิทธิภายในบังคับบทบัญญัติของกฏหมาย
คำว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย” คือข้อยกเว้นว่าสิทธิที่มีต้องถูกจำกัด การจำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น ต้องกำหนดโดยกฎหมาย เพราะประเทศที่เป็นนิติรัฐนั้นทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎหมายสูงสุดก็กฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีกฎหมายประกอบ และกฎหมายอื่นต่อมา ฉะนั้นสิทธิที่จะมีดังต่อไปนี้ก็จะมีการจำกัดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะใช้ สิทธิที่จะจำหน่าย หรือสิทธิที่จะได้ดอกผล สิทธิที่จะติดตามเอาคืน หรือสิทธิที่จะขัดขวางต่อการเกี่ยวข้องอันมีชอบด้วยกฎหมาย ก็ตาม ในส่วนของการแทรกแซงของรัฐต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น
เหตุที่สิทธิหรืออำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิ์ถูกจำกัด โดยทั่วไป มี 2 ประการคือ
1. โดยนิติกรรม ซึ่งหมายถึง ข้อตกลงในสัญญาของคู่สัญญา ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนา (Autonomy of Will) และ หลักเสรีภาพในการทำสัญญา (Freedom of Contract)
2. โดยผลของกฏหมาย
2.1 เพื่อประโยชน์สาธารณะ ( Public interest ) เช่น การเวนคืนที่ดิน
2.2 เพื่อมาตรการในการลงโทษ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (โดยหลักอายุความ) เช่น การครอบครองปรปักษ์ เพื่อเป็นการจำกัดสิทธิถาวร อันเนื่องมาจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ รัฐจึงต้องออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิถาวร หากเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ใช้ประโยชน์ และมีผู้เข้ามาครอบครองปรปักษ์ สิทธิอันถาวรก็จะหมดไป เป็นต้น


เป็นการจัดทำแนวคำตอบ โดยการเก็งข้อสอบจากที่อาจารย์บอก เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบในการหัดทำข้อสอบของผู้เขียน ขอให้ผู้ที่จะนำไปใช้ได้โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปใช้ แนวคำตอบนี้อาจจะมีส่วนที่บกพร่องบ้าง หรืออาจมีส่วนที่ผิดบ้าง ขอให้ผู้ที่จะนำไปใช้ได้โปรดนำไปแก้ไขเพิ่มเติมเอง หรือถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจขอให้ท่านได้โปรดอย่าได้นำไปใช้

สุรศักดิ์ กัลยาธิ
ฝ่ายวิชาการ

ไม่มีความคิดเห็น: